อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน ไม่ว่าจะโดนมีดบาดขณะทำอาหาร หรือเข่าถลอกจากการหกล้ม บาดแผลเล็กน้อย เช่น แผลจากของมีคมและแผลถลอก ก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
เมื่อคุณหรือสมาชิกในครอบครัวมีแผลจากการโดนบาดหรือแผลถลอกที่มีเลือดออก ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

- ห้ามเลือดโดยการกดบริเวณแผลด้วยผ้าพันแผลหรือผ้าสะอาด หากเป็นไปได้หรือถ้าจำเป็น ให้ยกบริเวณบาดแผลให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าหัวใจเพื่อลดการไหลของเลือด
- ปล่อยน้ำสะอาดไหลผ่านแผลเพื่อล้างแผล ใช้มือที่สะอาดนำสิ่งแปลกปลอม เช่น สิ่งสกปรกออกจากบริเวณบาดแผล
- ซับแผลให้แห้ง แล้วฆ่าเชื้อด้วยครีมฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ เพื่อฆ่าเชื้อบริเวณบาดแผล และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนจากการสัมผัสบาดแผล
- ปิดแผลด้วยผ้าพันแผล
เมื่อใดที่ควรได้รับการรักษาในทันที?
- เลือดไหลไม่หยุด
- เลือดไหลออกมาจากเส้นเลือดแดงใหญ่
- เกิดอาการชาบริเวณรอบ ๆ บาดแผล
- แผลกว้างมาก หรือเนื้อเยื่อถูกทำลายไปมาก
ระวังการติดเชื้อแบคทีเรีย
ถึงแม้คุณจะปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่บาดแผล แต่อาจมีปัจจัยอื่นซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมที่อาจทำให้ติดเชื้อได้ มีบางปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าบาดแผลนั้น ๆ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ขอบแผลไม่เรียบ แผลมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกหรือของเหลวในร่างกาย เช่น หนอง
สัญญาณของการติดเชื้อ ได้แก่
- แผลบวม แดง และเจ็บมากขึ้นแทนที่จะเจ็บน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป
- มีหนองออกมาจากบาดแผล
- มีกลิ่นเหม็นออกมาจากบาดแผล
- มีอาการเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว
- เป็นไข้ หรือรู้สึกไม่สบาย
ผิวหนังจะสมานตัวอย่างไร?
กระบวนการสมานแผลมีหลายขั้นตอน
ขั้นแรก ต้องห้ามเลือดให้ได้ก่อน
- เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงผิวหนังบริเวณบาดแผลจะหดตัวเพื่อลดการไหลของเลือด (Vasoconstriction)
- เกล็ดเลือดรอบ ๆ บาดแผลจะรวมตัวกัน และจับตัวกับโปรตีนในเลือดที่ทำให้เลือดแข็งตัว สร้างเป็นตัวอุดกั้น (เรียกว่า fibrin plug) ช่วยให้เลือดหยุดไหลและเปลี่ยนเป็นสะเก็ดแผล

เมื่อเลือดหยุดไหล เส้นเลือดที่หดตัวในตอนแรกจะขยายตัวเพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยกำจัดเชื้อไปรวมตัวที่รอบ ๆ บาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณบาดแผล
ขั้นตอนการสมานแผลและการสร้างเซลล์ใหม่ รวมถึงการสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็นซึ่งเป็นคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ภายใต้สะเก็ดแผลที่ปิดอยู่ โดยปกติเนื้อเยื่อแผลเป็นจะเกิดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์หลังเกิดบาดแผล
ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการสมานแผล ได้แก่ อายุ สารอาหาร การติดเชื้อ หรือสภาวะความเจ็บป่วย อื่น ๆ รวมถึงระดับความชุ่มชื้นของผิว ทันทีที่บาดแผลถูกปิด การรักษาความชุ่มชื้นบริเวณบาดแผลและรอบ ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดการอักเสบและการเกิดแผลเป็น รวมถึงสร้างเสริมเกราะปกป้องผิวที่แข็งแรง